กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย จัดเวทีระดมผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ แนะนำแนวทางพัฒนาทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ รับมือยุคอุตสาหกรรม 4.0 หลังนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ทั้งสร้างโรงงานอัจฉริยะ ใช้ AI แทนแรงงานคน ก่อนทำแผนเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบ ชี้ในปี 68 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนจะสูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ไทยจึงต้องเร่งอาเซียนรับมือ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย (ASEAN BAC) จัดสัมมนาระดับ นานาชาติ “Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development” หรือ AHEAD ในวันที่ 21 มิ.ย.2562 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ของอาเซียน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความท้าทาย ผลกระทบ โอกาสจากยุค 4IR รวมถึงการยกระดับแรงงานทักษะ ตลอดจนนโยบายและแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น “กรมฯ จะนำผลที่ได้รับจากการจัดงานครั้งนี้ ไปใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบการวิชาชีพของอาเซียน เพื่อรับมือกับ 4IR และนำเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้ความเห็นชอบและเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบต่อไป”นางอรมนกล่าว นางอรมนกล่าวว่า ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยมาใช้ในการผลิต การบริโภค รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสร้างโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ในทุกหน่วยของการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะราย การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ การเชื่อมต่อข้อมูลจากคนสู่สิ่งของด้วยระบบเซนเซอร์ และการจัดลำดับพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของอาเซียนที่พบว่า การเข้าสู่ยุค 4IR จะส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของ 6 ตลาดใหญ่อาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เติบโตจากปัจจุบันที่มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปสู่ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก