อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าจำนวน 13 ฉบับ พบว่ามี 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว ส่งผลให้ไทยมีการส่งออกมังคุดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ส่งออกสินค้ามังคุดอันดับต้นของโลก โดยการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออกมังคุดได้สูงถึง 325 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 220% โดยตลาดส่งออกหลัก คือ จีนและอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 97% โดยส่งออกไปจีน มูลค่า 229.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 408% มีส่วนแบ่งตลาด 71% และอาเซียน มูลค่า 84.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 46% มีส่วนแบ่งตลาด 26% ขณะที่ยอดรวมส่งออกทั้งปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 226.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.32% นางอรมนกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่า มูลค่าการส่งออกมังคุดเพิ่มสูงขึ้นถึง 22,540% หากแยกรายตลาด พบว่า จีน เพิ่มขึ้น 34,667% เมื่อเทียบกับปี 2545 ก่อนที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาเซียน เพิ่ม 11,420% เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่สมาชิกอาเซียนจะลดภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เกาหลีใต้ เพิ่ม 2,400% เมื่อเทียบกับปี 2552 ก่อนการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในปี 2561 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้มังคุดและผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น และปรับตัวเข้าสู่การค้ายุคใหม่ โดยสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เช่น การตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะสามารถครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้ไทยได้ ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี โดยค้นหารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือโทร 0 2507 7555